Home ข่าวสาร ภาวะผู้นำตามวิถีตะวันออก

ภาวะผู้นำตามวิถีตะวันออก

by talkthurakit
ภาวะผู้นำ

ภาวะผู้นำตามวิถีตะวันออก

คำว่า “ภาวะผู้นำ” เป็นศัพท์ที่ริเริ่มโดยชาวตะวันตก แต่ความจริงแล้วในทางตะวันออกก็มีภาวะผู้นำในภาคปฏิบัติสั่งสอนสืบต่อกันมานานแล้ว ในที่นี้ขอคัดเลือกภาวะผู้นำตามวิถีตะวันออก 7 ประการมาแนะนำ ซึ่งสามารถร้อยเรียงให้จดจำได้ง่าย ๆ คือ 

  1. “สำนึกต่อหน้าที่ มีสัจจะ กตัญญู รู้จักอ่อนน้อม ยอมให้อภัยไม่ช่วงชิงเป็นที่หนึ่ง คำนึงถึงความกลมกลืน” เป็นคุณสมบัติของภาวะผู้นำ
ภาวะผู้นำ
  1. ประการแรก สำนึกต่อหน้าที่

คือการตระหนักถึงพันธะที่เรามีต่อผู้คนและสิ่งต่าง ๆ บนโลกใบนี้ เช่น หน้าที่ต่อพ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูง หน้าที่ต่อองค์กรที่เราสังกัดอยู่ รวมทั้งหน้าที่ต่อสังคมและโลกโดยส่วนรวม คนที่มีความสำนึกต่อหน้าที่ คือคนที่มีความรับผิดชอบสูงจึงสมควรแก่สถานะผู้นำ ซึ่งจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าคนโดยทั่วไป

  1. ประการที่สอง มีสัจจะ

คนมีสัจจะ คือคนที่เชื่อถือได้พูดคำไหนคำนั้น ไม่ทรยศหักหลัง ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามผลประโยชน์เฉพาะหน้า ไม่เป็นไม้หลักปักขี้เลน จึงสามารถเป็นที่ยึดเหนี่ยวของผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งหลาย

  1. ประการที่สาม กตัญญู

กตัญญูในที่นี้ไม่ได้หมายความเพียงการกตัญญูต่อบุพการีหรือครูอาจารย์เท่านั้น แต่หมายถึงความกตัญญูรู้คุณต่อทุกคน แม้แต่ต่อลูกน้องของตนเอง การไม่ลืมบุญคุณคน รวมทั้งพยายามตอบแทนกลับคืนอยู่เป็นปกติวิสัย ทุกคนจึงอยากให้ความช่วยเหลือ เพราะช่วยไปแล้วไม่เสียเปล่า แม้แต่คนที่ช่วยโดยไม่หวังผล ก็ยังรู้สึกดี เพราะรู้สึกว่าได้ช่วยคนดี ทำให้มีกำลังใจช่วยเหลือคนอื่น ๆ ต่อไปอีก

  1. ประการที่สี่ รู้จักอ่อนน้อม

สังคมตะวันออกไม่ชอบคนวางก้าม อวดโอ่ยโสโอหัง คนเก่งจริงจะไม่กลัวว่าผู้อื่นจะไม่รู้จักความเก่งของตน เพราะเมื่อมันเป็น “ของจริง” จะช้าจะเร็วผู้คนก็จะรับรู้อยู่ดี ผู้ที่มีความรู้ก็เช่นกัน ถ้ารู้มากพอ ก็จะรู้ว่าความรู้ที่ตนมีนั้นน้อยกว่าสิ่งที่ยังไม่รู้อีกมากมาย ผู้รู้จริงทั้งหลายจึงมีความอ่อนน้อมถ่อมตน เช่นเดียวกับรวงข้าวที่มีเมล็ดเต็มรวง ย่อมจะโน้มลงสู้พื้นดิน เป็นธรรมดา

  1. ประการที่ห้า ยอมให้อภัย

แสดงให้เห็นถึงจิตใจที่สูงส่ง ไม่ผูกพยาบาทอาฆาตมาดร้าย ซึ่งเจ้าตัวจะเป็นคนแรกที่มีความสุข จิตใจจะโปร่งใสเบาสบาย ไม่ต้องเสียเวลาไปคิดในเรื่องที่ไม่สร้างสรรค์ เช่น จะแก้แค้นอย่างไรให้สาสม ฯลฯ หัวหน้าบางคนไม่ยอมให้อภัยในความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของลูกน้อง ทำให้ลูกน้องหวาดกลัวจนไม่กล้าคิดทำอะไรต่อไป ลูกน้องเก่ง ๆ ก็จะค่อย ๆ หนีหายเพราะทำอะไรผิดพลาด หัวหน้าก็ไม่ให้โอกาสแก้ไขปรับปรุง 

  1. ประการที่หก ไม่ช่วงชิงเป็นที่หนึ่ง

เพราะความเป็นผู้นำไม่ใช่ได้มาด้วยการช่วงชิง ถ้าเรามีคุณสมบัติที่เหมาะสม เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ทุกอย่างจะลงตัวโดยอัตโนมัติ การพยายามช่วงชิง เป็นที่หนึ่งก็เสมือนจิตใต้สำนึกของตัวเองตระหนักอยู่เสมอว่า ตัวเองไม่ได้มีคุณสมบัติที่คู่ควร นอกจากนี้ การพยายามช่วงชิงตำแหน่งทำให้ต้องทำร้ายหรือทำลายกีดกันผู้อื่น เปลืองกำลังและสร้างศัตรูโดยไม่จำเป็น แทนที่จะทำให้ได้รับการสนับสนุนเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมอาจจะเป็นเวลาที่ถูกคิดบัญชีย้อนหลังไปอย่างน่าเสียดาย

  1. ประการที่เจ็ด คำนึงถึงความกลมกลืน

คือไม่ฝืนเอาตามใจของตัวเอง แต่ต้องดูความเหมาะสมสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น ศาสนา วัฒนธรรม ค่านิยมหรือภาวะทางเศรษฐกิจ ฯลฯ รวมทั้งพยายามลดความขัดแย้งในหน่วยงาน เมื่อสอดคล้องกลมกลืนทุกอย่างก็จะดำเนินไปอย่างราบรื่น ไม่สะดุดติดขัด ไม่เหนื่อยแรงแต่เกิดประสิทธิภาพสูง

ทั้งหมดนี้คือ คุณลักษณะที่ผู้นำตามวิถีตะวันออกพึงมีติดตัวลองสังเกตดูว่าผู้นำที่พวกเราให้การยอมรับนั้น มีลักษณะตามนี้จริงหรือไม่ และผู้นำที่คนส่วนใหญ่มักจะปฏิเสธนั้น คือผู้นำที่ขาดคุณลักษณะประการใดบ้าง หรืออาจจะขาดหมดทั้งเจ็ดประการ

ภาวะผู้นำที่กล่าวมาข้างต้น สังเคราะห์ขึ้นจากคำสอนของพุทธ ขงจื๊อและเต๋า ที่ว่า ผู้นำที่แท้จริงคือผู้ที่ไม่ปรารถนาจะเป็นผู้นำ แต่เมื่อมีความจำเป็น และมีความเหมาะสมของสถานการณ์ ผู้นำที่แท้จริงจึงจะปรากฏตัวออกมา

ภาวะผู้นำ

เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่เปี่ยมด้วยกิเลสตัณหา ปรารถนาในอำนาจอย่างแรงกล้า ผู้นั้นยิ่งห่างไกลออกจากวิถีแห่งการเป็น”ผู้นำที่แท้จริง” !

อ่านบทความที่น่าสนใจ ทอล์คธุรกิจ

Leave a Comment